จังหวัดเพชรบุรี เข้ม PM. 25 ดึงชาวบ้านเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน หยุดเผา นำฟาง และเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร สร้างคุณค่าประโยชน์ ผุดกิจกรรมเสริมรายได้ ทดแทนการเผาเป็นเม็ดเงิน

เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2566) นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายธรรมนูญ ศรีวรรธนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่และประชาชน เกษตรกร ร่วมโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ณ แปลงเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (กำนันไวพจน์ อยู่เย็น) หมู่ที่ 3 ตำบลหนองชุมพล อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี

นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า รัฐบาลประกาศ ให้การหยุดเผาเป็นวาระแห่งชาติ ป้องกันปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะ PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและปัญหาอื่นตามมา ทั้งสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ของประเทศ เร่งผลักดันส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายเกษตรกร ให้หยุดการเผาทุกชนิดในพื้นที่ทำเกษตร ลดปัญหาการเผา สร้างความรู้ ความเข้าใจและให้ตระหนักถึงผลกระทบจากการเผา โดยให้นำเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนการเผา ซึ่งให้รู้ถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นหากไม่เผา เช่น การผลิตฟางก้อนสร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่าการที่จะเผาทิ้ง การทำปุ๋ยพืชสด ลดการใช้สารเคมี ช่วยลดค่าใช้จ่ายลดต้นทุนในการผลิตได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้น รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมถึงพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศว่า ให้มาร่วมใจกันลดการเผา ตอซัง หรือเศษวัสดุในพื้นที่เกษตร เราจะได้สิ่งดีๆ กลับมา ทั้งเรื่องสุขภาพอากาศดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ลดรายจ่าย ช่วยรักษาหน้าดินที่จะเป็นทรัพยากรสำคัญในการทำการเกษตรให้ดีเพื่อให้มีผืนดินให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน

ทางด้านนายธรรมนูญ ศรีวรรธนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีได้แสดงความขอบคุณ หน่วยงานภาคการเกษตร ที่ให้ความสำคัญในการหยุดเผาและกล่าวถึง PM 2.5 ในพื้นที่เพชรบุรีว่าคนเพชรบุรีเราเลิกเผาแล้ว เราเลิกที่จะเผา และร่วมรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความใสสะอาดของสภาพอากาศ พร้อมทั้งเชิญชวนนักท่องเที่ยวไปเยือนเมืองเพชรบุรี สัมผัสอากาสดี อาหารดี ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เพชรบุรีผลิต มั่นใจในคุณภาพ ความปลอดภัยทุกด้าน โดยภายในงาน มีการสาธิตกรรมวิธีหลากชนิดที่ให้เกษตรกรได้ปฏิบัติจริง นำความรู้ไปปรับใช้ เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต ให้ทำการเกษตรแบบปลอดการเผา เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ประโยชน์จากฟาง นำฟาง มาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการเพาะเห็ด สร้างการเรียนรู้โดยจัดแข่งขันการเพาะเห็ด การสาธิตการไถกลบตอซัง พ่นน้ำหมักน้ำช่วยย่อยตอซัง แล้วหว่านเมล็ดพันธ์ปอเทือง เพื่อปรับปรุงดิน เป็นต้น


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar